วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อีกไม่กี่วันเจอกันที่...อุทยานแห่งชาติสาละวิน(คัดจากเวบสำนักอุทยานแห่งชาติ)

 อุทยานแห่งชาติสาละวิน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบริมฝั่งน้ำซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง และมีสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์ธรรมชาติ ทิวทัศน์และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น แม่น้ำสาละวิน มีเนื้อที่ประมาณ 450,950 ไร่ หรือ 721.52 ตารางกิโลเมตร 

กรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่ป่าบริเวณลำน้ำสาละวิน (ตั้งแต่ใต้ห้วยแม่สามแลบไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวินและป่าแม่ยวมฝั่งขวา ในท้องที่อำเภอแม่สะเรียม และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพป่าที่สมบูรณ์และสวยงามเหมาะที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมของ สภาพพื้นที่จึงให้ นายอัมพร ปานมงคล นักวิชาการป่าไม้ 4 ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ ไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 504/2532 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2532 สำรวจพื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง พื้นที่ที่สำรวจและเห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวาและป่าสาละวิน ในท้องที่ตำบลแม่ลาหลวง ตำบลแม่ลาน้อย ตำบลท่าผาปุ้บ อำเภอแม่ลาน้อย ตำบลแม่คง ตำบลบ้านกวด ตำบลแม่ยวม ตำบลสบเมย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื้อที่ประมาณ 1,013 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 632,125 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ 





ลักษณะภูมิประเทศ 
พื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน (ลุ่มน้ำคง) เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 200-1,027 เมตร ซึ่งยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่ มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยวม แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำกองคา แม่น้ำแม่แงะ และแม่น้ำหาร 

ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติสาละวิน (ลุ่มน้ำคง) แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ 

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
มีสภาพป่าที่อุดมของป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้สำคัญที่พบมี สัก แดง ประดู่ ชิงชัน มะค่าโมง ตะเคียนหนู ตะเคียนทอง เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ 

สัตว์ป่าที่สำคัญมี สัตว์บก ได้แก่ เก้ง กวาง เลียงผา เสือ อีเห็น ชะมด นาก หมี เม่น อ้น กระรอก ลิง ค่าง ชะนี หมูป่า ค้างคาว และนกต่างๆ สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูชนิดต่างๆ กิ้งก่า ตะกวด จิ้งเหลน เต่า ตะพาบน้ำ ฯลฯ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ กบ เขียด อึ่งอ่าง ปาด ส่วนสัตว์น้ำที่อาศัยในแม่น้ำสาละวินมีปลา จำแนกป็น 2 ชนิด คือ ปลาเฉพาะถิ่น ได้แก่ ปลาแปบสาละวิน ปลาตะเพียนสาละวิน ปลารากกล้วยสาละวิน ปลาแขยงใบข้าว ปลาคม ปลากดคัง ปลาหมู ปลาแค้ ฯลฯ และปลาทั่วไป ได้แก่ ปลาสะตือ ปลาดุก ปลาสวายหนู ปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย ฯลฯ

การเดินทาง
รถยนต์ 
เดินทางจากอำเภอแม่สะเรียงใช้เส้นทางตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1194 ระยะประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วเข้าทางแยกขวามือไปตามทางอีก 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หากต้องการเดินทางต่อไปที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สว.4 (บ้านแม่สามแลบ) ต้องเดินทางโดยรถยนต์ (ถนนลาดยาง) อีกประมาณ 50 กิโลเมตร 

จากบ้านแม่สามแลบ หากต้องการเดินทางต่อไปที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สว.1 (บ้านท่าตาฝั่ง) สามารถเดินทางได้ทางเรือโดยสาร เรือออกจากท่าเรือบ้านสามแลบ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. (ค่าโดยสาร 1,000 บาทต่อผู้โดยสาร 10 คน : ข้อมูลเดือนตุลาคม 2549) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (บ้านท่าตาฝั่ง) 

การเดินทางไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สว.1 (บ้านท่าตาฝั่ง) สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ เริ่มจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (ถนนลูกรัง : ข้อมูลเดือนตุลาคม 2549) ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร ควรใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง เส้นทางนี้เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัย 


1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ฝาก facebook อุทยานแห่งชาติสาละวิน ด้วยค่ะ

ยินดีต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนทุกท่าน ค่ะ

https://www.facebook.com/SalawinNationalpark