วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ข่าวด่วนจากอินทอน ไชยมาลา
วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
การเดินทางไปกราบครูบาชัยยะวงศาพัฒนาที่วัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
ภาพการเดินทางไปกราบครูบาชัยยะวงศาพัฒนาที่วัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน สรีระสังขารของครูบาวงศ์ท่านยังคงสภาพเดิมอย่างงดงามไม่เน่าเปื่อย เมื่อครั้งหลวงปู่ยังมีชีวิต ท่านได้ชื่อว่าเป็นครูบาอาจารย์รูปหนึ่งที่มีพระธาตุมาก และ ในพระวิหารของครูบาวงศ์นี้ก็มีพระธาตุอยู่มากมายให้พวกเราได้กราบและชื่นชม
ตู้พระธาตุของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มีทั้งหินพระธาตุที่มีพระธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระอรหันตธาตุฝังอยู่ พระธาตุพระสีวลี และ พระอรหันตธาตุองค์อื่นๆอีกมากมาย
จะสังเกตุเห็นได้ว่าหินพระธาตุที่แกะสลักเป็นรูปพระสมเด็จนั้น องค์พระธาตุงอกขาวคลุมเต็มไปหมดอย่างชัดเจน
องค์พระธาตุพระสีวลีงอกออกมามากมายเห็นเป็นก้อนขาว
จะเห็นได้ว่าองค์พระธาตุมีลักษณะเป็นชั้นๆซ้อนกันอยู่ซึ่งก็คือลักษณะการงอกเพิ่มขนาดขององค์พระธาตุที่จะขยายออกด้วยก็งอกเป็นชั้นๆอย่างที่เห็นได้ในภาพ
รอยพระพุทธบาทห้วยต้ม ในวิหารครอบรอยพระพุทธบาท ที่ครูบาชัยวงศาพัฒนาใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 34 ปี
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่างๆ ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จมาถึงดงไม้ตาลแล้วขึ้นประทับบนจอมดอยแห่งหนึ่ง เรียกว่าดอยนางพี่ได้ประทานพระเกศาธาตุ 1 เส้นให้พวกละว้าที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ต่อมาเรียกว่า ดอยนางนอนจอมแจ้ง (เพราะเสด็จมาถึงที่นั่นตอนรุ่งเช้า) ต่อมามีพญาเมืองเถิน พ่อฤาษีและหมอพรานอีก 8 คนหาบเนื้อสดเดินมาพบเข้าไม่มีอะไรจะถวายจึงเอาเนื้อมาถวาย พระพุทธองค์ก็ไม่ฉันพวกพรานจึงเอาเนื้อไปกองรวมกันไว้ พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวาย สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงรับมาฉันและให้ศีลให้พรพวกละว้า พระพุทธองค์จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้และทรงรับสั่งว่า "ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนก็เหมือนอยู่ใกล้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนอยู่ไกล" จากนั้น จึงทรงประทานนามที่นั่นว่า "ห้วยต้มข้าว" ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น "ห้วยต้ม" ซึ่งเป็นชื่อวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน
พระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในวัด
บ้านห้วยต้มเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงทั้งหมด 600 หลังคาเรือนมีคนอาศัยอยู่เกือบ 3,000 คนซึ่งพวกเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยต้มเมื่อปี 2514 หลังจากที่ราชการ สร้างเขื่อนยันฮี หรือ เขื่อนภูมิพล ขึ้น ชาวเขาเหล่านี้ไม่มีที่ทำกิน การอพยพเข้ามาอยู่ในระยะแรกมีความยากลำบากมาก เพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลง และสภาพทั่วไป มีความแห้งแล้ง ชาวกะเหรี่ยงบางคนไม่สามารถทนอยู่ได้ต้องอพยพไปอยู่ในที่ใหม่ พวกที่ทนอยู่ได้ก็ตั้งหน้าทำงานต่อสู้กับอุปสรรคอันแห้งแล้งของธรรมชาติ
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาวงศ์ ท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านห้วยต้ม ท่านสามารถสอนธรรมะให้กับชาวเขาทั้งหมดในหมู่บ้านเลิกฆ่าสัตว์เพื่อกินเนื้อ และ เป็นผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดตามอย่างครูบาวงศ์ นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระนักพัฒนาและนักก่อสร้างอีกด้วย ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านมีความลำบากยากแค้น ท่านเคยเล่าว่าเมื่อายุประมาณ 3 ขวบท่านชอบเอาดินมาปั้นแต่งเป็นบ้าน ปั้นวัว ปั้นควายและพระพุทธรูป เอาข้าวเปลือกมตบแต่งเป็นพระเนตรแล้วก็กราบไหว้เอง จนเมื่ออายุได้ประมาณ 6 ปีพอที่จะช่วยโยมพ่อทำงานได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งโยมพ่อพาลูกๆออกไปทำไร่ โยมแม่ได้นำอาหารกลางวันมาส่งให้ หลังจากที่กินอาหารเรียบร้อยแล้วโยมพ่อจึงอบรมสั่งสอนลูกๆว่า "ตอนนี้พ่อแม่ก็อดลูกทุกคนก็อดแต่ทุกคนอย่าท้อแท้ใจ ค่อยทำบุญไปเรื่อยๆ บุญมีภายหน้าก็จะสบาย"
บริเวณพระเจดีย์ชเวดากอง(จำลอง) ที่ครูบาชัยยะวงศาท่านได้ริเริ่มก่อสร้างขึ้น พระเจดีย์นี้มีความงดงามอย่างยิ่งพรั่งพร้อมไปด้วยศรัทธาของชาวบ้านที่จัดเวรยามเฝ้าพระเจดีย์อย่างดีและคอยเตือนให้สาธุชนที่จะเข้าไปกราบพระธาตุเจดีย์ไม่นำเนื้อสัตว์และเครื่องดองของเมาใดๆเข้าไปในเขตพระเจดีย์อย่างเข้มแข็ง
ความงดงามในยามเย็นที่เราได้เข้าไปกราบพระธาตุเจดีย์อันงดงามที่ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางป่าเขาอันห่างไกล แต่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาจากเหล่าสาธุชนที่ได้มาร่วมก่อสร้างพระเจดีย์แห่งนี้ ดังที่จะเห็นได้จากความงดงามที่ไม่อาจบรรยายได้เป็นตัวอักษร ที่เห็นอยู่นี้ ยังความปลื้มปิติ และ ความสุขอันสงบยิ่งในใจของทุกคนที่ได้มาเยือนวัดพระบาทห้วยต้มในครั้งนี้